ประวัติแผลเก่า

แผลเก่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี 

แผลเก่าของ ไม้ เมืองเดิม

แผลเก่า เป็นผลงานประพันธุ์เรื่องแรกของ ไม้  เมืองเดิม   ตีพิมพ์ครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2479 นำมาสร้างเป็นภาพยนต์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2483 และ พ.ศ. 2489 ต่อมา เชิด ทรงศรี นำกลับมาสร้างภาพยนต์อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2520 ทำสถิติรายได้สูงสุดเมื่อออกฉายครั้งแรก ลบสถิติภาพยนตร์ทุกเรื่องที่เข้าฉายในเวลานั้นทั้งไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังได้ไปประกาศศักดาของภาพยนตร์ไทยโดยคว้ารางวัลชนะเลิศจากงานประกวดภาพยนตร์ ณ เมืองน็องต์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ.2524 นอกจากนี้ยังถูกสร้างละครในชื่อ "ขวัญเรียม" ฉายทางช่อง 4 บางขุนพรหม และสร้างใหม่อีกหลายครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2544 

เนื้อเรื่อง แผลเก่า

ในปี พ.ศ. 2479 ณ ท้องทุ่งบางกะปิ ไอ้ขวัญลูกผู้ใหญ่เขียน หนุ่มเลือดนักเลงรูปงามมีเพื่อนสนิท คือ ไอ้เฉิ่ง ไอ้เยื้อน ไอ้สมิง ไอ้เปีย ผู้ใหญ่เขียนรักไอ้ขวัญมากจึงไม่คิดที่จะมีเมียใหม่ และความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเมื่อ นายเรืองและไอ้เริญ ลุกล้ำที่หน้าของผู้ใหญ่เขียนและเกิดเป็นคดีความขึ้น แต่นายเรืองแพ้จึงประกาศเป็นศัตรูกับผู้ใหญ่เขียน แต่เมื่อเป็นกรรมเก่าที่ทำร่วมกันมา เพราะขวัญเกิดไปชอบพอกับเรียมลูกสาวนายเรือง ซึ่งมีหนุ่มมารุมรักมากมาย รวมถึงไอ้จ้อยเศรษฐีมีเงิน

ขวัญกับเรียมแอบนัดพบกันเสมอ ความรักของทั้งสองยิ่งแน่นแฟ้นขึ้นจนทั้งคู่แอบมีความสัมพันธ์กัน ขวัญพร่ำบอกว่ารักเรียมเท่าชีวิต แต่เรียมนั้นไม่แน่ใจจึงพาขวัญไปสาบานต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทร ขวัญโกรธที่เรียมไม่เชื่อใจจึงเอามีดกรีดแขนตัวเอง เพื่อให้เลือดเป็นเครื่องยืนยันความรัก ทั้งคู่สาบานรักกันต่อหน้าเจ้าพ่อไทรว่าจะซื่อสัตย์ต่อกันตลอดไป จ้อยเห็นขวัญกับเรียมอยู่ด้วยกันจึงถีบหน้าขวัญอย่างจัง ไอ้เริงได้ใช้ดาบฟันที่กกหูขวัญเป็นแผล

ขวัญจะฆ่าจ้องแต่เรียมขอเอาไว้ อีกอย่างนายเรืองอนุญาตให้ขวัญยกขวัญหมากมาสู่ขอเรียม ซึ่งสร้างความหวังให้กับทั้งคู่เป็นอย่างมาก แต่แล้วทุกอย่างก็ไม่เป็นไปตามที่หวัง เมื่อไอ้เริงและนางรวยเป่าหูนายเรืองให้กันขวัญออกจากเรียมแล้วยกให้ไอ้จ้อย เพื่อยกฐานะให้กับตนเอง เรียมถูกขายให้คุณนายทองคำที่บางกอก ขวัญจึงออกไปตามหาที่บางกอกแต่ไม่เจอ ไอ้ขวัญแทบคลั่ง ด้วยความเป็นห่วงลูกชาย ผู้ใหญ่เขียนแอบเก้บเงินเพื่อช่วยไถ่ตัวเรียมอีกแรง

ขวัญคลั่งหนักเมื่อรู้ข่าวว่าไอ้จ้อยจะไปไถ่ตัวเรียมเพื่อมาแต่งงาน ผู้ใหญ่เขียนจึงไปกราบเท้านายเรืองให้ขวัญมีสิทธิไถ่ถอนตัวเรียมมาแต่งงาน นายเรืองรับกราบ ขวัญเร่งทำงานหาเงินไถ่ตัวเรียม เรียมอยู่ที่บางกอกในฐานะทาสรับใช้แต่คุณนายทองคำเอ็นดูเรียมเพราะหน้าตาคล้ายลูกสาวที่ตายไป จึงรับเป็นลูกบุญธรรม โดยซื้อจากนายเรือง นายเรืองบอกให้ขวัญไปไถ่ถอนเรียมเอง แต่แล้วขวัญก็ต้องคลั่งอีกครั้งเมื่อรู้ว่านายเรืองได้ขายเรียมให้กับคุณนายทองคำไปแล้ว แต่ขวัญยังเชื่อในคำสาบานว่าเรียมจะกลับมาใช้ชีวิตร่วมกัน ผู้ใหญ่เขียนเห็นว่าน่าจะให้ขวัญบวชจะได้ทำให้ขวัญสงบลง

ฝ่ายเรียมเมื่อขยับขึ้นมาเป็นลูกบุญธรรม ชีวิตก็เปลี่ยนไป สมชายอดีตคู่หมั้นคุณนายทองคำสนใจเรียมและทั้งสองคนก็ใช้ความศิวิไลซ์ของบางกอกมัดใจเรียม เรียมพอใจกับความเป็นอยู่หรูหรา เริ่มมองว่าสมชายรักจริง และเริ่มมองขวัญเป็นเพียงพวกป่าเถื่อนด้อยพัฒนา ส่วนขวัญเฝ้าเวียนวนภาวนาต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทร ให้ดลใจนึกถึงคำสัญญา และคำภาวนาก็สัมฤทธิ์ผลเมื่อนางรวยป่วย เรียมต้องกลับมาเยี่ยม ขวัญดีใจรีบกลับไปหาเรียม

แต่ต้องผิดหวังเมื่อเรียมดูสูงส่งไม่เหมือนเรียมคนเดิม และเมื่อเรียมได้หนีขวัญกลับบางกอกทั้งที่สัญญาว่าจะมาพบในตอนกลางคืน ขวัญเสียใจมากจะฆ่าตัวตายต่อหน้าศาลเจ้าพ่อไทร แต่ผู้ใหญ่เขียนมาขวางไว้ ผู้ใหญเขียนได้โอกาสตอนที่ขวัญกำลังซมซานจึงพูดเรื่องที่จะให้ขวัญบวช ขวัญก็เออออตามพ่อเพระากำลังสับสน เช่นเดียวกับเรียมที่ตอบตกลงแต่งงานกับสมชายเพราะกำลังสับสน จนนางรวยเจ็บหน้าอกอีกครั้ง ทำให้เรียมต้องกลับมาดูแลแม่ ช่วง 3 วันที่อยู่บางกะปิเรียมตัดสินใจคืนดีกับขวัญ ทั้งคู่ร่าเริงเหมือนปลาได้น้ำ แต่เรียมไม่สามารถกำหนดชะตาชีวิตตัวเองได้นอกจากคุณนายทองคำคนเดียว

เวลาผ่านไปถึงวันที่ 4 นางรายตาย หลังจากเสร็จงานศพ สมชายก็ตามเรียมกลับบางกอกเพราะคุณนายทองคำป่วย เรียมจำใจต้องกลับทั้งที่วันนี้เป็นวันบวชของขวัญ เรียมตั้งใจกลับไปบอกคุณนายทองคำว่าเป็นเมียขวัญแล้ว และจะไม่แต่งงานกับสมชาย แต่เรียมไม่มีโอกาสที่จะไปบอกขวัญถึงการจากไปครั้งนี้

ที่บ้านผุ้ใหญ่เขียนกำลังเตรียมงานบวชโดยที่ไม่รู้เงยว่างานบวชนี้จะเป็นงานศพแทน ขวัญเมื่อรู้เรื่องว่าเรียมจะไปบางกอกถึงกับสติแตกคว้ามีดซุยคู่ใจโดดออกจากเรือน สมชายให้เรียมพาไปเที่ยวท้องนา เรียมตัดสินใจบอกว่าขวัญเป้นหนึ่งในดวงใจและจะไม่แต่งงานกับสมชาย แต่เขาไม่บังคับเพราะต้องการสมบัติของคุณนายทองคำ ขวัญมาพบการพูดคุยกัน ทำให้ขวัญเข้าใจผิดคิดว่าเรียมจะหนีไอ้ขวัญไปชั่วชีวิต

ขวัญคลั่งทำลายทุกอย่างที่ขวางหน้ารวมทั้งฆ่าไอ้เริงกับสมุนตาย เรียมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องเลวร้าย เพราะไอ้ขวัญยอดรักถูกสมชายยิงตายไปต่อหน้า ตายไปเพราะความเข้าใจผิดคิดว่าเรียมนอกใจ ทางด้านผู้ใหญ่เขียนวิ่งถือผ้าไตรและเครื่องบวชตามไอ้ขวัญมา ในขณะที่กระสุนปืนพุ่งใส่ร่างของไอ้ขวัญ ผู้ใหญเขียนสะดุดรากไม้ล้มลงพร้อมผ้าไตรและเครื่องบวช ผู้ใหญ่รู้ทันทีว่าไอ้ขวัญไม่มีวันกลับมาเป็นลูกชายของเขาอีกทำให้แกล้มลงร้องไห้จนสิ้นสติไป

เรียมตัดสินใจจะเป็นเมียไอ้ขวัญคนเดียวไปจนชั่วชีวิต จึงตัดสินใจใช้มีดแทงตัวตายตามไอ้ขวัญไป ณ ท้องน้ำอันเป็นที่เริงรักของทั้งคู่ ท้องน้ำที่ไหลสู่ศาลเจ้าพ่อไทร สถานที่ที่ทั้งคู่เคยร่วมสาบานรักกันตราบจนกว่าความตายจะพรากทั้งคู่จากกันไป

ภาพยนตร์เรื่อง แผลเก่า ของ เชิด ทรงศรี นำแสดงโดย สรพงษ์ ชาตรี รับบท "ขวัญ" , นันทนา เงากระจ่าง รับบท "เรียม" , ส.อาสนจินดา , ชลิต เฟื่องอารมณ์ , เศรษฐา ศิระฉายา และ ศรินทิพย์ ศิริวรรณ ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 70 มม. ฉายครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2520 มีคำโฆษณาหนังว่า "เราจะสำแดงความเป็นไทยต่อโลก"

มีเพลงประกอบคือเพลงแสนแสบ บทประพันธ์คำร้องโดย ชาตรี อินทรวิจิตร ทำนองโดย สมาน กาญจนะผลิน ขับร้องโดย ไพรวัลย์ ลูกเพชร (เพลงนี้เคยขับรองโดย ชรินทร์ นันทนาคร เมื่อ พ.ศ. 2503)

ในขณะถ่ายทำ เนื่องจากเป็นภาพยนตร์แนวย้อนยุค ในขณะที่ผู้สร้างในขณะนั้นนิยมสร้างภาพยนตร์ร่วมสมัยจึงไม่มีผู้ค้ารายใดซื้อภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายเลย แต่เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย ปรากฎว่าเป็นที่นิยม ทำรายได้สูงสุดในประเทศไทย

ได้รับรางวัลบทประพันธ์ยอดเยี่ยม และรางวัลเครื่องแต่งกายและแต่งหน้ายอดเยี่ยมจากการประกวดในประเทศ ได้รับโล่เกียรติยศภาพยนตร์ที่เชิดชูเอกลักษณ์ไทยยอดเยี่ยมจาก พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

พ.ศ. 2524 "แผลเก่า" ได้รับรางวัลกรังด์ปรีจากการประกวดภาพยนตร์ในงาน Festival des 3 Continents เมืองน็อง ประเทศฝรั่งเศส

พ.ศ. 2541"แผลเก่า" ได้รับเลือกจากหอภาพยนตร์และโทรทัศน์แห่งชาติของประเทศอังกฤษ (National Film and Television Archive) ร่วมกับนิตยสาร Sight and Sound ของสถาบันภาพยนตร์อังกฤษ (British Film Institute) และผุ้กำกับภาพยนตร์และนักวิจารณ์ภาพยนตร์จากทั่วโลก ให้เป็น 1 ใน 360 ภาพยนตร์คลาสสิคของโลก

โดยมีการประกาศผลเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 

พ.ศ.2550 มูลนิธิหนังไทยร่วมกับหอภาพยนตร์แห่งชาติ นำผลงานภาพยนตร์ของเชิด ทรงศรี จำนวน 5 เรื่อง รวมทั้งแผลเก่ามาจัดฉายอีกครั้งในวันที่ 21 - 30 กันยายน พ.ศ. 2550 เพื่อนำรายได้ไปจัดสร้างประติมากรรมขนาดเท่าตัวจริงของเชิด ทรงศรี เพื่อจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ภาพยนตร์ไทย หอภาพยนตร์แห่งชาติ ศาลายา